วัฒนธรรม มีความหมายที่กว้างขวาง ครอบคลุมถึงรูปแบบการดำรงชีวิต ความคิด ปรัชญาความเชื่อต่าง ๆ ที่คนกลุ่มหนึ่งมีความเป็นกลุ่มร่วมกัน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ประเทศ ไปถึงระดับภูมิภาคและระดับ สากลนานาชาติ ในความหมายที่แคบลงกว่านั้น หมายถึง การแสดงที่เป็นสิ่งซึ่งแสดงลักษณะทางวัฒนธรรมของกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกในรูปแบบใด เช่น จิตรกรรมสถาปัตยกรรม ดนตรีซึ่งอาจเรียกรวม ๆ กันเป็นศิลปะทั้งเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยและประโยชน์ในการจรรโลงใจ วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลง และการถ่ายทอดต่อกันได้ ด้วยตระหนักและสำนึกในคุณค่าสังคมที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่มีวัฒนธรรม จึงน่าจะเป็นสังคมที่น่าอยู่กว่า
การจัดการทางวัฒนธรรม มีความหมายที่เจาะจง คือการบริหารจัดการกิจกรรม ศิลปะและวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาจิตใจและสำนึกในการดำรงอยู่ของมนุษย์การปล่อยปละละเลยวัฒนธรรมเป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ หรือการคำนึงถึงเฉพาะประโยชน์ทางการค้าอาจมีผลเสีย วัฒนธรรมอย่างประเมินค่ามิได้การจัดการทางวัฒนธรรมจึงเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่อยู่ในความสนใจของภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ที่สนใจและมีความรับผิดชอบทางวัฒนธรรมการศึกษาและการบันเทิง ซึ่งกล่อมเกลาจิตใจของสาธารณชนและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ที่มีสำนึกและความรับผิดชอบในสังคมโดยที่ประเทศไทยปัจจุบัน มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แบบแผนการดำรงชีวิตของประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก การแสดงออกทางด้านศิลปวัฒนธรรมได้มีการพัฒนาควบคู่กันไปกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศและการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบันเทิงที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง และเป็นประเด็นสำคัญในการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเช่น วัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กับการ เปลี่ยนแปลงทาง สังคมเศรษฐกิจ การเมืองการปกครองอย่างไร และในเชิงนโยบาย ควรมีการพัฒนาทางศิลปวัฒนธรรมอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในยุคของการไปสู่ความเป็นสากล และเงื่อนไขต่าง ๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น
ในปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรทางด้านการจัดการทางวัฒนธรรมมากแต่ยังไม่มีสถาบันใดที่เปิดสอนสาขาวิชาดังกล่าวโดยตรง ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชานี้ได้เป็นอย่างดี สามารถตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคระดับชาติ และระดับบุคคลที่รับผิดชอบต่องานด้านการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน เพื่อเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม หลักสูตร ฯ นี้ รับผู้สำเร็จการศึกษาจากปริญญาตรีที่มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น เป็นผู้จัดการบริษัทจัดการแสดงนาฏยศิลป์ บริหารวงดนตรีและการแสดงคอนเสิร์ต การจัดการธุรกิจเชิงนิเวศน์และธุรกิจหอแสดงภาพ เป็นต้น